นายไกรศรี จาติกวณิช อดีตอธิบดีกรมศุลกากร และอดีตผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมสรรพากร เกิดวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2473 เป็นบุตรคนที่ 6 ในบุตรธิดา 8 คนของ พระยาอธิกรณ์ประกาศ (หลุย จาติกวณิช หรือ ซอเทียนหลุย) อดีตอธิบดีกรมตำรวจ และ องคมนตรี ในสมัยรัชกาลที่ 7
นายไกรศรี สมรสกับ นางรัมภา จาติกวณิช มีบุตรที่เข้าสู่วงการเมืองคือ นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
นายไกรศรีมีพี่ชายคนที่ 3 คือ นายเกษม จาติกวณิช หรือ "ซูเปอร์เค" อดีตผู้ว่าการคนแรกของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นายไกรศรีเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาที่ โรงเรียนอัสสัมชัญ มัธยมศึกษาตอนต้นที่ วชิราวุธวิทยาลัย และสำเร็จมัธยมศึกษาตอนปลายที่ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน โดยเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี และ ดร.อำนวย วีรวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ
นายไกรศรี สำเร็จปริญญาโท ด้านการตลาด จาก มหาวิทยาลัยลองไอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา ต่อมาได้รับการทาบทามจาก ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ให้มาช่วยราชการที่กระทรวงการคลัง มีผลงานชิ้นแรก คือ การจัดตั้ง สำนักเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ซึ่งนายไกรสีห์ได้หวนกลับมาเป็น ผู้อำนวยการ ในเวลาต่อมา
ระหว่างการรับราชการนายไกรศรีมีผลงานที่สำคัญ คือการเป็นประธานยกร่าง พระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จนผ่านมาเป็นกฎหมายในปี พ.ศ. 2517 เป็นผู้เสนอ ถอนใบอนุญาต บริษัทราชาเงินทุน ในยุควิกฤติการเงินสมัยรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
นอกจากนี้นายไกรศรี ยังเป็นผู้ก่อตั้ง บริษัท ผาแดงอินดัสทรี้ส์ จำกัด ที่เป็นผู้นำในวงการอุตสาหกรรมทองแดงของไทย อีกด้วย
ปัจจุบัน นายไกรศรี ดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการบริหารบริษัท ไทยเซ็นทรัลเคมี จำกัด (มหาชน) หรือ TCCC ที่เป็นบริษัท ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ชั้นนำรายหนึ่งของประเทศไทย และเป็นผู้นำทางด้านผลิตภัณฑ์ปุ๋ยเคมีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
ในปี พ.ศ. 2529 ชีวิตราชการของ นายไกรศรี ขณะดำรงตำแหน่งเป็น อธิบดีกรมศุลกากร มีอันต้องสะดุดลงในช่วงใกล้เกษียณ พร้อมกับ นายชยุติ จิระเลิศพงษ์ ที่ดำรงตำแหน่ง รองอธิบดีกรมศุลกากร ในขณะนั้น และเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรอีก 12 คน จากข้อกล่าวหา กระทำผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ในการหลีกเลี่ยงภาษีอากรนำเข้ารถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า ซอเรอร์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ "คดีโตโยต้าซอเรอร์"
โดยความจริงแล้วข้อกล่าวหาการหลบเลี่ยงภาษีนั้น นายมนัสชัย อารียะภากุล เป็นผู้นำรถยนต์ดังกล่าวมาจากญี่ปุ่น และได้ชำระค่าภาษีศุลกากรจำนวน 400,000 บาท แทนที่จะเป็นจำนวน 1.4 ล้านบาท ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับนายไกรศรี และที่มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยนั้น นายไกรศรีไม่ได้ถูกลงโทษให้ออกจากราชการ แต่ ถูกพักราชการ ในปี พ.ศ. 2529 ตามมาตรา 98 ของ ระเบียบข้าราชการพลเรือน ( ก.พ.) เนื่องจากมีการกล่าวหาและตั้งคณะกรรมการสอบสวน ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2531 สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้มีหนังสือถึงนายไกรศรียืนยันว่ามีสิทธิยื่นหนังสือ ขอกลับเข้ารับราชการได้ แต่นายไกรศรีไม่ได้ยื่นหนังสือ เนื่องจากขณะนั้นใกล้เกษียณอายุราชการแล้ว
ส่วนที่นายไกรศรีถูกกรมศุลกากรฟ้องร้องคดีอาญาและคดีแพ่ง เป็นจำเลยร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร ปรากฏว่าอัยการมีหนังสือ แนะนำกรมศุลกากรตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 ว่าไม่ควรฟ้อง แต่กรมศุลกากรยังคงดำเนินการฟ้องร้อง ซึ่งในส่วนคดีอาญาจบก่อน โดยอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้อง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 นายไกรศรีจึงไม่เคยถูกดำเนินคดีอาญาแต่อย่างใด ในส่วนคดีแพ่งที่เรียกค่าเสียหายจากการละเมิดและปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 พร้อมกับให้เหตุผลว่า การกระทำของนายไกรศรี ไม่ถึงขั้นเป็นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ด้วยความประมาทเลินเล่อ หรือจงใจ การกระทำจึงไม่เป็นการละเมิด ประกอบกับกรมศุลกากรได้ยึดรถยนต์ของกลางไว้แล้ว นายไกรศรี จึงไม่ต้องร่วมชดใช้ใดๆ และนอกจากคดีแพ่งนี้ นายไกรศรีก็ไม่เคยถูกฟ้องดำเนินคดีอาญาใดๆ อีก